มลพิษทางอากาศ ภัยร้ายของสุขภาพจิต
Updated: Nov 9, 2021

เรารู้กันมานานแล้วว่ามลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน ผู้ที่สูดมลพิษเข้าไปเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคหัวใจ หรือมะเร็งปอด ยิ่งอนุภาคมลพิษเล็กเท่าไหร่ ก็ยิ่งอันตรายมากเท่านั้น
แต่โชคร้ายยังไม่จบ มีการศึกษาพบว่า มลพิษทางอากาศ เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสุขภาพจิตหลายอย่าง
อนุภาคที่มีขนาดตั้งแต่หรือเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมคนเราประมาณ 30 เท่า สามารถสร้างความเสียหายได้มากที่สุด เพราะผ่านเข้าสู่ระบบหายใจได้ง่ายที่สุด และยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปถึงสมอง ทำให้เกิดการอักเสบและอันตรายต่อร่างกายได้มากมาย
หนึ่งในผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศกับสุขภาพจิต ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Psychiatry (วารสารทางการแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์) ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้กับคนจำนวน 13,000 คนในลอนดอน โดยใช้ข้อมูลในการเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตในโรงพยาบาล พบว่าการได้รับไนโตรเจนไดออกไซด์ (เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ) เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตได้
เชื่อมโยงกับผลการศึกษาสุขภาพจิตใน PLOS Biology (วารสารทางวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยา) ปี 2019 จากการวิเคราะห์ข้อมูลของคน 151 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา และ 1.4 ล้านคนในเดนมาร์ก ที่พบว่ามลพิษในที่อากาศมากขึ้นส่งผลต่อการเกิดโรคไบโพลาร์เพิ่มขึ้น 17%, ภาวะซึมเศร้า 6 % และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ 20% และสารเคมีที่ส่งผลมากที่สุด คือ ไนโตรเจนไดออกไซด์
ซึ่งนักวิจัยได้วิเคราะห์การเชื่อมโยงของมลพิษในอากาศกับสุขภาพจิตไว้ดังนี้
สารพิษเข้าสู่ปอด ทำให้เกิดการอักเสบในหลอดลม ปอด และทำให้เกิดการอักเสบในระบบประสาท
การอักเสบของระบบประสาทจะไปเพิ่มการอักเสบของเซลล์ในร่างกายและกระตุ้นเซลล์ที่ตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งการอักเสบทั่วร่างกายนั้นสามารถทำลายดีเอ็นเอได้
มลพิษสามารถเข้าสู่สมองผ่านทางเยื่อเมือกบางๆ ของจมูก ผ่านระบบรับกลิ่นไปยังเนื้อเยื่อสมอง ส่งผลให้สมองเสียหายในระยะยาว
สารพิษที่เข้าไปสู่สมองสามารถทำลายสมองในส่วนระบบลิมบิกได้ (กลุ่มของสมองที่ทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม)
การได้รับ PM 2.5 เป็นเวลานานอาจทำให้ระบบลิมบิกเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีอาการแย่ลง และมีคนเกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
มลพิษทางอากาศอันตรายสุขภาพจิตของเด็ก
การศึกษาหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives (วารสารรายเดือนเกี่ยวกับการวิจัยด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม) ปี 2019 ได้ศึกษาเกี่ยวกับการได้รับ PM 2.5 ในระยะสั้น ในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีกว่า 6,800 คน พบว่า การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของ PM2.5 (ประมาณ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ในระยะสั้นๆ ก็มีผลทำให้เด็กที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยสภาวะฉุกเฉินจากสภาพจิตผิดปกติ ในกรณี มีความคิดหรือพฤติกรรมฆ่าตัวตาย และความผิดปกติในการปรับตัว เพิ่มขึ้นได้
นอกจากนั้น การศึกษาเรื่องสุขภาพจิตในเด็กของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียยังพบว่า เด็กที่ได้รับสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) หรือ กลุ่มของสารเคมีที่เป็นผลพลอยได้จากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันเบนซิน ขยะ และแหล่งอื่นๆ) ตั้งแต่ในครรภ์มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
ที่แย่กว่านั้น ผลการศึกษาระยะยาว 4 ปี ที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Psychiatry (วารสารทางการแพทย์ที่จัดทำโดยสมาคมการแพทย์อเมริกัน ครอบคลุมการวิจัยทางจิตเวชศาสตร์สุขภาพจิตพฤติกรรมศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง) ในปี 2020 ยังบอกว่าอาการทางจิตที่ไม่ได้รับการรักษาในวัยเด็กอาจทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร
เราได้เห็นแล้วว่ามลพิษทางอากาศอันตรายต่อสุขภาพจิตมากแค่ไหน โดยเฉพาะในเด็ก หากไม่ได้รับการจัดการแก้ไขอย่างยั่งยืน เราก็จะได้รับมลพิษทางอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพจิตของคนเราก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพอื่นๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อากาศบริสุทธิ์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ชีวิตคนเราอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่เราทุกคนต้องช่วยกันลดมลพิษ แม้คนละเล็กน้อยก็เปลี่ยนแปลงได้
ข้อมูลจาก
· https://www.iqair.com/blog/air-quality/air-pollution-and-mental-health
· https://thematter.co/science-tech/air-pollution-linked-depression/98438
· https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30168
· https://www.news-medical.net/health/Pollution-and-Mental-Health.aspx
· https://www.breeze-technologies.de/blog/impact-of-air-pollution-on-mental-health/
· https://www.airbi.cz/en/How-does-air-pollution-affect-mental-health
· https://www.breeze-technologies.de/blog/impact-of-air-pollution-on-mental-health/
· https://www.ecowatch.com/air-pollution-mental-illness-2654890605.html
· https://www.news-medical.net/health/Pollution-and-Mental-Health.aspx